top of page

กฎหมาย ถังดับเพลิง (โรงงานอุตสาหกรรม)

อัปเดตเมื่อ 9 ต.ค. 2566

ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การป้องกันและระงับอัคคีภัยในโรงงาน พ.ศ. ๒๕๕๒ ประกาศนี้บังคับใช้กับโรงงานจำพวกที่ 2 และ จำพวกที่ 3 เท่านั้น โดยไม่บังคับใช้กับโรงงานจำพวกที่ 1

ตามพรบ.โรงงาน พ.ศ.2535 ได้มีการแบ่งโรงงานออกเป็น 3 จำพวกดังนี้ - โรงงานจำพวกที่ 1 ได้แก่ โรงงานประเภท ชนิด และขนาดที่สามารถประกอบกิจการโรงงานได้ทันทีตามความประสงค์ของผู้ประกอบกิจการโรงงาน - โรงงานจำพวกที่ 2 ได้แก่ โรงงานประเภท ชนิด และขนาดที่เมื่อจะประกอบกิจการโรงงานต้องแจ้งให้ทราบก่อน - โรงงานจำพวกที่ 3 ได้แก่ โรงงานประเภท ชนิด และขนาดที่ตั้งโรงงานต้องได้รับใบอนุญาตก่อนจึงจะดำเนินการได้ ลิงค์ดาวน์โหลด ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ.2552 http://www.diw.go.th/hawk/law/safety/23.pdf ลิงค์ดาวน์โหลด ตรวจสอบประเภทโรงงาน ตามพรบ.โรงงาน พ.ศ.2535 http://www2.diw.go.th/mac/form/A2_FORM/DOC_%20A/Law_industry35.pdf ประกาศฉบับนี้ระบุให้โรงงานที่บังคับให้มีการติดตั้งระบบป้องกันอัคคีภัยดังนี้


1. ระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ (Fire Alarm)

- ให้มีอุปกรณ์ตรวจจับ(Smoke/Heat Detector) และอุปกรณ์แจ้งเตือน(Alarm Bell, Strobe Light)ครอบคลุมทั่วทั้งอาคารตามความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ สามารถเป็นระบบ manual ได้ - หากเป็นพื้นที่ที่ไม่มีคนงานปฏิบัติงานประจำ และมีเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือเก็บวัตถุไวไฟหรือติดไฟง่ายต้องมีระบบแจ้งเหตุอัตโนมัติ หรือก็คือต้องมีตู้ Fire Alarm Control Panel

fire alarm diagram
fire alarm diagram

ระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ มีส่วนประกอบหลักที่สำคัญคือ (1) อุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้ (2) ตู้ควบคุมระบบ และ (3) อุปกรณ์เตือนภัย โดยแต่ละส่วนประกอบเชื่อมต่อกันด้วยสายสัญญาณไฟฟ้า ซึ่งระบบจะทำงานตรวจจับเพลิงไหม้และส่งสัญญาณเตือนภัย เพื่อให้ผู้อยู่ภายในอาคารอพยพออกไปนอกอาคารหรืออพยพไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัยซึ่งมีการกำหนดไว้



อุปกรณ์ตรวจจับควันไฟ(Smoke Detector)

smoke detector
smoke detector

มี 2 แบบ คือ แบบจุด (Spot Type) แบบต่อเนื่อง (Linear Type)โดยแบบจุด แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ (1) ประเภทลำแสง(Photoelectric Type) และ (2) ประเภทรวม (Combine Type) โดยแบบรวมนี้สามารถตรวจจับได้ทั้งควันไฟและความร้อน โดยอุปกรณ์ต้องได้รับการรับรองตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์สากลที่เป็นที่ยอมรับเช่น UL (Underwriters Laboratories), FM (Factory Mutual) เป็นต้น





อุปกรณ์ตรวจจับความร้อน(Heat Detector)

heat detector
heat detector

มี 3 แบบ คือ (1) แบบความร้อนคงที่(Fixed Temperature Type) เป็นการตรวจจับที่อุณหภูมิคงที่ เช่น ที่อุณหภูมิ 57 องศาเซลเซียส เมื่อเกิดเพลิงไหม้และในพื้นที่มีความร้อนถึงอุณหภูมินั้น อุปกรณ์จะทำงานทันที (2) แบบความร้อนผันแปร (Rate of Rise Type) อุปกรณ์จะทำงานทันทีเมื่ออุณหภูมิภายในพื้นที่มีการเปลี่ยนอุณหภูมิ 8 องศาเซลเซียส ภายในช่วงเวลา 1 นาที (3) แบบรวม (Combine Type) โดยแบบนี้เป็นการรวมอุปกรณ์ตรวจจับแบบ (1) และแบบ (2) มาใช้ในอุปกรณ์ตัวเดียวกัน ซึ่งสามารถตรวจจับความร้อนได้ทั้ง 2 แบบ






การเลือกใช้อุปกรณ์ตรวจจับจะจำแนกจากระยะเวลาของการเกิดไฟซึ่งสามารถแบ่งเป็น 4 ระยะได้ดังนี้

ระยะที่ 1 ระยะเริ่มต้น (Incipient Stage) ซึ่งระยะนี้จะไม่สามารถมองเห็นอนุภาคของควัน ควันไฟ เปลวไฟ และจะไม่รู้สึกถึงความร้อน อุปกรณ์ตรวจจับที่เหมาะสมคือ อุปกรณ์ตรวจจับไอออน และก๊าซจากการเผาไหม้

ระยะที่ 2 ระยะเกิดควัน (Smoldering Stage) ซึ่งระยะนี้เราไม่สามารถมองเห็นเปลว และจะไม่รู้สึกถึงความร้อน แต่จะมองเห็นควันไฟ อุปกรณ์ตรวจจับที่เหมาะสมคือ อุปกรณ์ตรวจจับควันไฟ **ใช้ Smoke Detector เมื่อต้องการตรวจจับระยะนี้**

ระยะที่ 3 ระยะเกิดเปลวไฟ (Flame Stage) ซึ่งระยะนี้เราสามารถมองเห็น เปลวไฟ ควันไฟ และเริ่มรู้สึกถึงความร้อน อุปกรณ์ตรวจจับที่เหมาะสมคือ อุปกรณ์ตรวจจับเปลวไฟ **ใช้ Heat Detector เมื่อต้องการตรวจจับระยะนี้**

ระยะที่ 4 ระยะเกิดความร้อน ( Heat Stage) ซึ่งระยะนี้เราสามารถมองเห็นเปลวไฟควันไฟ จะไม่สามารถควบคุมความร้อนได้ อากาศร้อนจะแผ่ขยายตัวออกไป อุปกรณ์ตรวจจับที่เหมาะสมคือ อุปกรณ์ตรวจจับความร้อน Incipient Stage Smoldering Stage Flame Stage Heat Stage (มาตราฐาน วสท. กำหนดไว้ว่า พื้นที่ที่ช่วยชีวิต เช่น ห้องนอน ห้องสำคัญๆ และทางเดินสำหรับอพยพ ต้องใช้อุปกรณ์ตรวจจับควันเท่านั้น แต่พื้นที่อื่นๆที่พิจารณาแล้วว่าเป็นแค่พื้นที่ป้งอกันทรัพย์สิน หมายถึงห้องทั่วไป ก็ไม่จำเป็นต้องติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับแบบควันก็ได้ ให้ติดแบบตรวจจับความร้อนก็ได้ หมายเหตุ : Heat Detector จะมีราคาถูกกว่า Smoke Detector)

2. เครื่องดับเพลิงแบบมือถือ (Protable Fire Extinguisher)
ถังดับเพลิง

- บังคับให้มีเครื่องดับเพลิง ให้เหมาะสมกับประเภทของเชื้อเพลิง และเป็นไปตามมาตรฐานมอก.หรือเทียบเท่า - เครื่องดับเพลิงต้องมีขนาดบรรจุ ไม่น้อยกว่า 4.5กก. หรือมีขนาดตั้งแต่ 10 ปอนด์ขึ้นไป - ต้องมีการตรวจสอบเครื่องดับเพลิงเป็นประจำ โดยมีระยะเวลาตรวจสอบอย่างน้อยทุกๆ 6 เดือน - เครื่องดับเพลิงต้องติดตั้งในระยะห่างกันไม่เกิน 20 เมตร (มีจุดประสงค์ให้สามารถหยิบใช้งานได้ภายในระยะ 20 เมตร) - ติดตั้งเครื่องดับเพลิง ให้ส่วมบนสุดเครื่องดับเพลิงมีความสูงไม่เกิน 1.5เมตรจากพื้น(เพื่อให้หยิบใช้ได้สะดวก) และให้มีป้ายสัญลักษณ์ที่มองเห็นได้ชัดเจนและไม่มีสิ่งกีดขวาง

(ระยะการห่างติดตั้ง) (ป้ายสัญลักษณ์ติดผนัง) (ป้ายขาตั้งวางพื้น)

3. ระบบน้ำดับเพลิง

- ต้องมีการจัดเตรียมน้ำให้เพียงพอที่จะจ่ายให้อุปกรณ์อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 นาที ระบบน้ำดับเพลิงประกอบไปด้วย ระบบท่อยืน, หัวจ่ายน้ำอัตโนมัติ และเครื่องสูบน้ำดับเพลิง สำหรับโรงงานที่สถานที่มีสถานที่จัดเก็บวัตถุติดไฟได้เกิน 1,000 ตรม. ต้องมีระบบดับเพลิงอัตโนมัติ (ระบบหัวกระจายน้ำอัตโนมัติ หรือระบบอื่นที่เทียบเท่า) โรงงานที่มีพื้นที่ต่อเนื่องน้อยกว่า 1,000 ตรม. สามารถใช้เฉพาะระบบท่อยืนและเครื่องสูบน้ำได้ - สถานที่จัดเก็บวัตถุไวไฟ พื้นที่เกิน 14 ตรม. ต้องติดตั้งระบบอัตโนมัติให้เหมาะสมกับพื้นที่ - การติดตั้งต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับ (มาตรฐานการติดตั้งอยู่ท้ายบทความ)

4. การตรวจสอบ ทดสอบและบำรุงรักษา ระบบและอุปกรณ์ต่างๆ

- ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องจัดให้มีแผนการตรวจสอบ การทดสอบ และการบำรุงรักษาระบบและอุปกรณ์สำหรับการป้องกันและระงับอัคคีภัย เพื่อให้ระบบและอุปกรณ์ มีความพร้อมในการทำงานได้ตลอดเวลา โดยการตรวจสอบ ทดสอบ และบำรุงรักษาระบบและอุปกรณ์นี้สามารถดำเนินการโดยการใช้เอกสารตามแนบท้าย หรือสามารถใช้ตามมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับ ตัวอย่างเช่น NFPA 25 Standard for the Inspection, Testing, and Maintenance of Water-Based Fire Protection Systems เป็นต้น


5. การฝึกอบรม เพื่อป้องกันและระงับอัคคีภัย

- จัดให้คนงานได้รับการฝึกอบรมเรื่องการป้องกันและระงับอัคคีภัยตามที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด ทั้งนี้ต้องมีเอกสารหลักฐานที่สามารถตรวจสอบได้ โดยรายละเอียดการฝึกอบรมเรื่องการป้องกันและระงับอัคคีภัยให้เป็นไปตามประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม


----------------------------------------------------------------------------------------------------------- มาตรฐาน NFPA ที่เกี่ยวข้องกับระบบน้ำดับเพลิงมีดังนี้

NFPA 13 Standard for Installation of Sprinkler Systems NFPA 14 Standard for Installation of Standpipe and Hose Systemsฃ NFPA 15 Standard for Water Spray Fixed Systems for Fire Protection NFPA 20 Standard for Installation of Stationary Pumps for Fire Protection NFPA 22 Standard for Water Tanks for Private Fire Protection NFPA 24 Standard for the Installation of Private Fire Service Mains and Their Appurtenances

ระบบท่อยืน ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เช่น มาตรฐาน NFPA 14 Standard for Installation of Standpipe and Hose Systems โดยมาตรฐาน NFPA 14 แบ่งระบบท่อยืน ออกเป็น 3 ประเภทคือ

- ท่อยืนประเภทที่ 1 ประกอบด้วยวาล์วสายฉีดน้ำดับเพลิง (Hose Valve) ขนาด 65 มิลลิเมตร (2.5 นิ้ว) สำหรับพนักงานดับเพลิงหรือผู้ที่ได้ผ่านการฝึกอบรมการใช้สายฉีดน้ำดับเพลิงขนาดใหญ่

- ท่อยืนประเภทที่ 2ประกอบด้วยชุดสายฉีดน้ำดับเพลิง (Hose Station) ขนาด 25 มิลลิเมตร (1 นิ้ว) หรือ 40 มิลลิเมตร (1.5 นิ้ว) สำหรับผู้ที่อยู่ในอาคารเพื่อใช้ในการดับเพลิงขนาดเล็ก เช่น ตู้ Hose Reel หรือ Hose Rack ที่ไม่มีข้อต่อสายฉีดดับเพลิง

- ท่อยืนประเภทที่ 3 ประกอบด้วยชุดสายฉีดน้ำดับเพลิง (Hose Station) ขนาด 25 มิลลิเมตร (1 นิ้ว) หรือ 40 มิลลิเมตร (1.5 นิ้ว) สำหรับผู้ที่อยู่ในอาคาร และวาล์วสายฉีดน้ำดับเพลิง (Hose Valve) ขนาด 65 มิลลิเมตร (2.5 นิ้ว) สำหรับพนักงานดับเพลิงหรือผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมในการใช้สายขนาดใหญ่ เช่น ตู้ Hose Reel หรือ Hose Rack ที่มีข้อต่อสายฉีดดับเพลิง


ประเภทท่อยืน

(ประเภทที่ 1) (ประเภทที่ 3 Hose Reel) (ประเภทที่ 3 Rack Rack)


สำหรับการติดตั้งระบบท่อยืนภายในโรงงานควรติดตั้งเป็นระบบท่อยืนประเภทที่ 3

เพื่อสามารถใช้ในการดับเพลิงได้ในทุกสถานการณ์

โดยทั่วไปวาล์วสายฉีดน้ำดับเพลิงและชุดสายฉีดน้ำดับเพลิงจะติดตั้งภายในตู้สายฉีดน้ำดับเพลิง (Fire Hose Cabinet) ระยะห่างระหว่างตู้สายฉีดน้ำดับเพลิงต้องห่างกันไม่เกิน 64 เมตร วัดตามแนวทางเดิน

มาตรฐาน NFPA 14 กำหนดอัตราการส่งน้ำดับเพลิงสำหรับท่อยืนประเภทที่ 1 และประเภทที่ 3 ดังนี้ ในกรณีที่ระบบท่อยืนมีมากกว่าหนึ่งท่อ ปริมาณการส่งจ่ายน้ำจะต้องไม่น้อยกว่า 500 แกลลอนต่อนาที (GPM) (30 ลิตรต่อวินาที) สำหรับท่อยืนท่อแรกและ 250แกลลอนต่อนาที (15 ลิตรต่อวินาที) สำหรับท่อยืนแต่ละท่อที่เพิ่มขึ้น ในกรณีที่ปริมาณการส่งน้ำรวมของท่อยืนเกิน 1,250 แกลลอนต่อนาที (95 ลิตรต่อวินาที) ให้ใช้ปริมาณการส่งน้ำที่1,250 แกลลอนต่อนาที (95 ลิตรต่อวินาที) หรือมากกว่าได้ ปริมาณน้ำสำหรับดับเพลิงต้องมีเพียงพอให้การส่งน้ำตามอัตราการไหลที่ระบบท่อยืนต้องการ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 นาที(ตามประกาศในข้อ 10) ตัวอย่าง ท่อยืนจำนวน 4 เส้น

• ระยะเวลาในการสำรองน้ำดับเพลิงอย่างน้อย 30 นาที • ปริมาณน้ำสำรองดับเพลิงอย่างน้อย = 1,250 x 30 = 37,500 แกลลอน (141,937 ลิตร)

ระบบน้ำดับเพลิงของโรงงานจะต้องมีการติดตั้งหัวรับน้ำดับเพลิงFDC (Fire Department Connection) ชนิดข้อต่อสวมเร็วขนาด 2-1/2 นิ้ว เพื่อใช้สำหรับรับน้ำดับเพลิงจากภายนอก เช่น จากรถดับเพลิง ตำแหน่งในการติดตั้งหัวรับน้ำดับเพลิงต้องเป็นตำแหน่งที่สามารถเข้าถึงได้โดยสะดวกในเวลาที่เกิดเพลิงไหม้ การส่งน้ำดับเพลิงให้กับระบบดับเพลิงด้วยน้ำให้มีอัตราการไหลและความดันตามต้องการ สามารถทำได้โดยใช้เครื่องสูบน้ำดับเพลิง (Fire Pump) การติดตั้งเครื่องสูบน้ำดับเพลิงต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล ตัวอย่างเช่น มาตรฐาน NFPA 20 Standard for Installation of Stationary Pumps for Fire Protection

หัวรับน้ำ

(หัวรับน้ำดับเพลิง ชนิดข้อต่อสวมเร็ว ขนาด 2-1/2")

มาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับสำหรับการติดตั้งระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงอัตโนมัติ ตัวอย่างเช่น มาตรฐาน NFPA 13 Standard for Installation of Sprinkler Systems ได้แบ่งระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงอัตโนมัติออกเป็น 4 ประเภทคือ


1. ระบบท่อเปียก (Wet Pipe System) **นิยมใช้กันทั่วไปในประเทศไทย** ระบบนี้เหมาะสมที่จะติดตั้งโดยทั่วทุกพื้นที่ภายในอาคาร เพราะระบบจะมีน้ำอยู่ในเส้นท่อตลอดเวลา เมื่อใดที่เกิดเพลิงไหม้ หัวกระจายน้ำดับเพลิงที่ติดตั้งอยู่เหนือบริเวณนั้นจะแตกและฉีดน้ำออกมาดับเพลิงทันที ทำให้สามารถควบคุมเพลิงได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพการทำงานของระบบนี้จะถูกควบคุมด้วยวาล์วควบคุมระบบท่อเปียก (Wet Pipe Alarm Valve) เมื่อมีหัวกระจายน้ำดับเพลิงในระบบทำงานมีน้ำไหล วาล์วควบคุมระบบท่อเปียกจะมีการส่งเสียงดังเพื่อทำให้ทราบว่า มีเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้น

2. ระบบท่อแห้ง (Dry Pipe System) ระบบนี้ภายในท่อจะไม่มีน้ำอยู่เลยแต่จะอัดด้วยอากาศหรือก๊าซไนโตรเจนที่ความดันทำงาน ระบบจะถูกควบคุมการทำงานด้วยวาล์วควบคุมระบบท่อแห้ง (Dry Pipe Alarm Valve) เมื่อหัวกระจายน้ำดับเพลิงแตกออก ความดันของก๊าซในท่อจะลดลงจนถึงจุดทำงาน วาล์วควบคุมแบบท่อแห้งจะเปิดออกทำให้น้ำไหลเข้าไปในเส้นท่อ ระบบนี้เหมาะที่จะติดตั้งสำหรับพื้นที่ป้องกันที่มีอุณหภูมิโดยทั่วไปต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง ซึ่งหากมีน้ำจะทำให้เกิดการแข็งตัวของน้ำในเส้นท่อเป็นเหตุให้ระบบเสียหายได้


3. ระบบท่อแห้งแบบชะลอน้ำเข้า (Pre Action System) ระบบนี้เหมาะสำหรับพื้นที่ป้องกันที่ต้องการหลีกเลี่ยงความบกพร่องทางกลของระบบท่อและหัวกระจายน้ำดับเพลิงที่อาจฉีดน้ำโดยที่ไม่มีเพลิงไหม้เกิดขึ้น จนเป็นเหตุให้ทรัพย์สินหรืออุปกรณ์ที่มีมูลค่าสูงเสียหาย ภายในเส้นท่อจะไม่มีน้ำดับเพลิงอยู่เช่นเดียวกับระบบท่อแห้งระบบจะถูกควบคุมด้วยวาล์วควบคุม (Pre-Action Control Valve) วาล์วควบคุมจะเปิดออกปล่อยให้น้ำไหลเข้าไปในท่อ เมื่อระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ตรวจจับสัญญาณเพลิงไหม้ได้


4. ระบบเปิด (Deluge System) ระบบนี้เหมาะสำหรับติดตั้งในบริเวณที่เพลิงไหม้สามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและรุนแรง เช่น พื้นที่เก็บของเหลวไวไฟ หม้อแปลงไฟฟ้าชนิดน้ำมัน เป็นต้น การติดตั้งหัวกระจายน้ำดับเพลิงจะเป็นแบบเปิด (Open Sprinkler) หรือ หัวฉีดน้ำฝอยดับเพลิง (Water Spray Nozzle) เพื่อฉีดน้ำดับเพลิงพร้อมกันทุกหัวจึงจะสามารถดับไฟที่เกิดขึ้นได้ทันที การออกแบบระบบนี้จะใช้ร่วมกันกับมาตรฐาน NFPA 15 Standard for Water Spray Fixed Systems for Fire Protection

ในการออกแบบและติดตั้งระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิง สำหรับอาคารใดๆ จะต้องพิจารณาถึงระบบส่งน้ำดับเพลิงที่น่าเชื่อถืออย่างน้อยหนึ่งระบบ ซึ่งจะต้องสามารถส่งน้ำดับเพลิงในปริมาณและความดันเพียงพอสำหรับดับเพลิงที่เกิดขึ้น ระบบส่งน้ำดับเพลิงที่สามารถนำมาพิจารณาเลือกใช้สำหรับการดับเพลิง เช่น เครื่องสูบน้ำดับเพลิงชนิดทำงานอัตโนมัติต่อกับแหล่งน้ำดับเพลิงถังเก็บน้ำสูง ถังน้ำความดันหรือท่อเมนสาธารณะที่มีความดันและปริมาณการไหลเพียงพอตลอดปี การหาปริมาณน้ำเพื่อใช้ในการดับเพลิงของระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิง จะต้องนำพื้นที่ครอบครองของอาคารมาพิจารณาด้วยเสมอ ซึ่งการแบ่งแยกว่าเป็นพื้นที่ครอบครองประเภทใด จะขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงว่ามีอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ จำนวนมากน้อยเพียงใด ดังนั้นการแบ่งประเภทของพื้นที่ครอบครองสำหรับอาคารแบ่งได้เป็น 3 ประเภทดังนี้


1. พื้นที่ครอบครองอันตรายน้อย (Light Hazard Occupancies) หมายถึง สถานที่ที่มีปริมาณเชื้อเพลิงและความสามารถในการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงต่ำ เช่น ที่พักอาศัย สำนักงานสถานศึกษา โรงพยาบาล ฯลฯ


2. พื้นที่ครอบครองอันตรายปานกลาง (Ordinary Hazard Occupancies) 2.1 พื้นที่ครอบครองอันตรายปานกลางกลุ่มที่ 1 (Ordinary Hazard Group 1) หมายถึงสถานที่ที่มีเชื้อเพลิงที่มีความสามารถในการเผาไหม้ต่ำ ปริมาณของเชื้อเพลิงปานกลาง กองของวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงได้มีความสูงไม่เกิน 8 ฟุต เช่นโรงงานผลิตอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ โรงงานผลิตอาหารกระป๋อง ฯลฯ 2.2 พื้นที่ครอบครองอันตรายปานกลางกลุ่มที่ 2 (Ordinary Hazard Group 2) หมายถึงสถานที่ที่มีปริมาณเชื้อเพลิงและความสามารถในการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงปานกลางถึงสูง กองของวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงได้มีความสูงไม่เกิน 12 ฟุต เช่น โรงงานผลิตสิ่งทอโรงงานกระดาษและผลิตเยื่อกระดาษ ฯลฯ


3. พื้นที่ครอบครองอันตรายมาก (Extra Hazard Occupancies) 3.1 พื้นที่ครอบครองอันตรายมากกลุ่มที่ 1 (Extra Hazard Group 1) หมายถึงสถานที่ที่มีปริมาณเชื้อเพลิงและความสามารถในการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงสูงมาก มีฝุ่น หรือสารที่ทำให้เกิดการลุกติดของไฟ หรือวัสดุอื่นที่สามารถจะทำให้เกิดการลุกไหม้ได้อย่างรวดเร็วแต่ไม่มีสารไวไฟและสารติดไฟเช่นโรงงานผลิตไม้อัดและไม้แผ่น อุตสาหกรรมยาง ฯลฯ 3.2 พื้นที่ครอบครองอันตรายมากกลุ่มที่ 2 (Extra Hazard Group 2) หมายถึงสถานที่ที่มีปริมาณของสารไวไฟและสารติดไฟปานกลางถึงมากหรือสถานที่เก็บสารมีขนาดใหญ่ พื้นที่กลุ่มนี้จะมีลักษณะการใช้งานที่เกี่ยวข้องกับของเหลวติดไฟ (Combustible Liquid) หรือของเหลวไวไฟ (Flammable Liquid) โดยตรง เช่น โรงพ่นสี โรงกลั่นน้ำมัน ฯลฯ

การติดตั้งหัวกระจายน้ำดับเพลิงสำหรับพื้นที่จัดเก็บสินค้า อาจติดตั้งที่หลังคาของอาคารเก็บสินค้าอย่างเดียวในกรณีที่การจัดเก็บวัตถุไม่ได้กองเก็บสินค้าบนชั้นวาง (Rack) อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีการจัดเก็บวัตถุบนชั้นวาง อาจจำเป็นต้องมีการติดตั้ง In-Rack Sprinkler ทำงานร่วมกับหัวกระจายน้ำดับเพลิงที่ติดตั้งที่หลังคา หัวกระจายน้ำดับเพลิงที่ติดตั้งในระบบดับเพลิงมีได้หลายลักษณะ อาจเป็นลักษณะหัวคว่ำ(Pendent) หรือหัวหงาย (Up-Right) ก็ได้ หัวกระจายน้ำดับเพลิงสำหรับใช้ในพื้นที่ครอบครองอันตรายน้อย โดยปกติจะมีขนาดรูออริฟิซ (Orifice) เท่ากับ 1/2 นิ้ว เรียกว่า Standard Orifice อย่างไรก็ตามในกรณีที่พื้นที่ครอบครองเป็นแบบอันตรายปานกลางหรืออันตรายมาก หรือเป็นหัวกระจายน้ำดับเพลิงที่ติดตั้งในพื้นที่จัดเก็บสินค้า (Warehouse Storage) อาจจำเป็นต้องเลือกใช้หัวกระจายน้ำดับเพลิงที่มีขนาดรูออริฟิซใหญ่ขึ้นเป็นแบบ Large Drop ขนาดรูออริฟิซ 17/32 ถึง 5/8 นิ้วหรือแบบ ESFR (Early Suppression Fast Response) ขนาดรูออริฟิซ 3/4 นิ้วก็ได้ตามความเหมาะสมตามที่กำหนดในมาตรฐาน NFPA 13

หัวสปริงเกอร์

(Pendant Sprinkler)

(ตัวอย่างการติดตั้งระบบ Sprinkler กับชั้นวางสินค้าอาคารโกดัง)

เอกสารอ้างอิง - ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การป้องกันและระงับอัคคีภัยในโรงงาน พ.ศ. 2552 - กฎกระทรวง(พ.ศ. 2535)ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 - คู่มือการปฏิบัติงานตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การป้องกันและระงับอัคคีภัยในโรงงาน พ.ศ.2552



สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม LINE ID: @saturnfire



บทความโดย

บจก. สยามเบสท์ สตีล เวิร์คส์


สงวนลิขสิทธิ์ทั้งบทความและรูปภาพประกอบ โดยบจ.สยามเบสท์ สตีล เวิร์คส์

ห้ามนำส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

Comments


bottom of page