อัพเดทล่าสุด วันที่ 2 ตุลาคม 2566 โดยผู้เขียน
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบป้องกันอัคคีภัยในอาคารทั่วไป ทั้งเครื่องดับเพลิงและระบบดับเพลิง มีดังนี้ครับ
กฎกระทรวงฉบับที่ 33, 39, 50, 55
ผมได้ตัดเอาข้อความเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ดับเพลิงในแต่ละฉบับไว้ หรือสามารถอ่านสรุปที่ท้ายบทความเพื่อความเข้าใจแบบง่ายๆครับ
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535)
สามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ >> mr35-33-upd69.pdf (asa.or.th)
(ไฟล์ประกาศจะรวบรวมทุกการอัพเดทรวมไว้ในเอกสารเดียว ฉบับแก้ไข ฉบับที่ 42 (พ.ศ.2537), ฉบับที่ 50 (พ.ศ.2540), ฉบับที่ 69 (พ.ศ.2564)
ฉบับที่ 55 นี้จะเกี่ยวของกับ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ
ความหมายของประเภทอาคาร
“อาคารสูง” หมายความว่า อาคารที่บุคคลอาจเข้าอยู่หรือเข้าใช้สอยได้โดยมีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป การวัด ความสูงของอาคาร ให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างอาคารถึงพื้นดาดฟ้า สำหรับอาคารทรงจั่วหรือปั้นหยา ให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้าง ถึงยอดผนังของชั้นสูงสุด
"อาคารขนาดใหญ่พิเศษ" หมายความว่า อาคารที่ก่อสร้างขึ้นเพื่อใช้อาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดอาคารเป็นที่อาศัยหรือประกอบกิจการประเภทเดียวกัน หรือหลายประเภท โดยมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นหรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกันตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป
ข้อ 16 ในอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษต้องมีระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ทุกชั้น ระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้อย่างน้อยต้องประกอบด้วย
(1) อุปกรณ์ส่งสัญญาณเพื่อให้หนีไฟที่สามารถส่งเสียงหรือสัญญาณให้คนที่อยู่ในอาคารได้ยินหรือทราบทั่วถึง
(2) อุปกรณ์แจ้งเหตุที่มีทั้งระบบแจ้งเหตุอัตโนมัติและระบบแจ้งเหตุที่ใช้มือเพื่อให้อุปกรณ์ตาม (1) ทำงาน
ข้อ 18 อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษต้องมีระบบป้องกันเพลิงไหม้ซึ่งประกอบด้วย ระบบท่อยืน ที่เก็บน้ำสำรอง และหัวรับน้ำดับเพลิงดังต่อไปนี้
(1) ท่อยืนต้องเป็นโลหะผิวเรียบที่สามารถทนความดันใช้งานได้ไม่น้อยหว่า 1.2 เมกะปาสกาลเมตร โดยท่อดังกล่าวต้องทาด้วยสีน้ำมันสีแดงและติดตั้งตั้งแต่ชั้นล่างสุดไปยังชั้นสูงสุดของอาคาร ระบบท่อยืนทั้งหมดต้องต่อเข้ากับท่อประธานส่งน้ำและระบบส่งน้ำจากแหล่งจ่ายน้ำของอาคารและจากหัวรับน้ำดับเพลิงนอกอาคาร
(2) ทุกชั้นของอาคารต้องจัดให้มีตู้หัวฉีดน้ำดับเพลิงที่ประกอบด้วยหัวต่อสายฉีดน้ําดับ
เพลิงพร้อมสายฉีดน้ำดับเพลิงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 25 มิลลิเมตร (1 นิ้ว) และหัวต่อสายฉีดน้ำดับเพลิง
ชนิดหัวต่อสวมเร็วขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 65 มิลลิเมตร (2½ นิ้ว) พร้อมทั้งฝาครอบและโซ่ร้อยติดไว้ทุก ระยะห่างกันไม่เกิน 64.00 เมตร และเมื่อใช้สายฉีดน้ําดับเพลิงยาวไม่เกิน 30.00 เมตร ต่อจากตู้หัวฉีดน้ำดับ เพลิงแล้วสามารถนําไปใช้ดับเพลิงในพื้นที่ทั้งหมดในชั้นนั้นได้ (หรือก็คือต้องติดตั้ง ตู้ Hose Reel หรือ ตู้ Hose Rack)
(3) อาคารสูงต้องมีที่เก็บน้ำสํารองเพื่อใช้เฉพาะในการดับเพลิงและต้องมีระบบส่งน้ำที่มี ความดันต่ำสุดที่หัวต่อสายฉีดน้ําดับเพลิงที่ชั้นสูงสุดไม่น้อยกว่า 0.45 เมกะปาสกาลเมตร แต่ไม่เกิน 0.7 เมกะปาสกาลเมตร ด้วยอัตราการไหล 30 ลิตรต่อวินาที โดยให้มีประตูน้ำปิดเปิดและประตูน้ำกันน้ำไหล กลับอัตโนมัติด้วย
(4) หัวรับน้ำดับเพลิงที่ติดตั้งภายนอกอาคารต้องเป็นชนิดข้อต่อสวมเร็วขนาดเส้นผ่านศูนย์
กลาง 65 มิลลิเมตร (2½ นิ้ว) ที่สามารถรับน้ำจากรถดับเพลิงที่มีข้อต่อสวมเร็วแบบมีเขี้ยวขนาดเส้นผ่านศูนย์
กลาง 65 มิลลิเมตร (2½ นิ้ว) ที่หัวรับน้ำดับเพลิงต้องมีฝาปิดเปิดที่มีโซ่ร้อยติดไว้ด้วย ระบบท่อยืนทุกชุด ต้องมีหัวรับน้ำดับเพลิงนอกอาคารหนึ่งหัวในที่ที่พนักงานดับเพลิงเข้าถึงได้โดยสะดวกรวดเร็วที่สุด และให้ อยู่ใกล้หัวท่อดับเพลิงสาธารณะมากที่สุด บริเวณใกล้หัวรับน้ำดับเพลิงนอกอาคารต้องมีข้อความเขียนด้วยสี สะท้อนแสงว่า “หัวรับน้ำดับเพลิง” (ติดตั้งหัวรับน้ำพร้อมข้อต่อสวมเร็ว)
(5) ปริมาณการส่งจ่ายน้ำสํารองต้องมีปริมาณการจ่ายไม่น้อยกว่า 30 ลิตรต่อวินาที สําหรับ ท่อยืนท่อแรก และไม่น้อยกว่า 15 ลิตรต่อวินาที สําหรับท่อยืนแต่ละท่อที่เพิ่มขึ้นในอาคารหลังเดียวกัน แต่รวมแล้วไม่จําเป็นต้องมากกว่า 95 ลิตรต่อวินาที และสามารถส่งจ่ายน้ำสํารองได้เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 นาที
ข้อ 19 อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ นอกจากต้องมีระบบป้องกันเพลิงไหม้ตามข้อ 18 แล้ว ต้องติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถือตามชนิดและขนาดที่เหมาะสมสำหรับดับเพลิงที่เกิดจากประเภทของวัสดุที่มีในแต่ละชั้น โดยให้มีเครื่องต่อพื้นที่อาคารไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร จากระยะไม่เกิน 45 เมตร แต่ไม่น้อยกว่าชั้นละ 1 เครื่อง
การติดตั้งเครื่องดับเพลิงตามวรรคหนึ่ง ต้องติดตั้งให้ส่วนบนสุดของตัวเครื่องสูงจากระดับพื้นอาคารไม่เกิน 1.50เมตร ในที่มองเห็น สามารถอ่านคำแนะนำการใช้ได้และสามารถเข้าใช้สอยได้โดยสะดวก เครื่องดับเพลิงแบบมือถือต้องมีขนาดบรรจุสารเคมีไม่น้อยกว่า 4 กิโลกรัม (ติดตั้งถังดับเพลิง ขนาด 10 ปอนด์ขึ้นไป)
ข้อ 20 อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษต้องจัดให้มีระบบดับเพลิงอัตโนมัติ เช่น SPRINKLE SYSTEM หรือระบบอื่นที่เทียบเท่า ที่สามารถทำงานได้ด้วยตัวเองทันทีเมื่อมีเพลิงไหม้ โดยให้สามารถทำงานครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดทุกชั้น ในการนี้ให้แสดงแบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลนของระบบดับเพลิงอัตโนมัติในแต่ละชั้นของอาคารไว้ด้วย
ข้อ 29/2 อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ที่เป็นอาคารสาธารณะต้องจัดให้มีพื้นที่หรือตำแหน่งเพื่อติดตั้ง เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator : AED) โดยรายละเอียดของเครื่องฟื้นคืนคลื่นหลังใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ จำนวน ตำแหน่ง และระบบการติดตั้ง ให้เป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติการฉุกเฉินที่คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินประกาศกำหนด
กฎกระทรวง ฉบับที่ 39 (พ.ศ.2537)
สามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ >> mr37-39-upd63.pdf (asa.or.th)
(ไฟล์ประกาศจะรวบรวมทุกการอัพเดทรวมไว้ในเอกสารเดียว ฉบับแก้ไข ฉบับที่ 63 (พ.ศ.2551)
ฉบับนี้จะเกี่ยวข้องกับอาคารทั่วไปเกือบทั้งหมด ระบบป้องกันอัคคีภัย ถังดับเพลิง ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้(fire alarm)
ข้อ 2 อาคารดังต่อไปนี้ต้องมีวิธีการเกี่ยวกับการป้องกันอัคคีภัยตามที่กําหนดในกฎกระทรวงนี้
(1) ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว บ้านแฝด
(2) อาคารที่ใช้เป็นที่ชุมนุมของประชาชน เช่น โรงมหรสพ หอประชุมโรงแรม สถานพยาบาล สถานศึกษา หอสมุด สถานกีฬาในร่ม ตลาด ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า สถานบริการ ท่าอากาศยาน อาคาร จอดรถ สถานีขนส่งมวลชน ที่จอดรถ ท่าจอดเรือ ภัตตาคาร สํานักงาน สถานที่ทําการของราชการ โรงงาน และอาคารพาณิชย์ เป็นต้น
(3) อาคารอยู่อาศัยรวมที่มีตั้งแต่ 4 หน่วยขึ้นไป และหอพัก
(4) อาคารอื่นนอกจากอาคารตาม (1) (2) และ (3) ที่มีความสูงตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไป
ข้อ 3 ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว และบ้านแฝด ที่มีความสูงไม่เกิน 2 ชั้น ต้องติดตั้งเครื่องดับเพลิง แบบมือถืออย่างใดอย่างหนึ่งตามชนิดและขนาดที่กําหนดไว้ในตารางที่ 1 ท้ายกฎกระทรวงนี้ จํานวนคูหาละ 1 เครื่อง
อาคารอื่นนอกจากอาคารตามวรรคหนึ่ง ต้องติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถืออย่างใดอย่างหนึ่งตาม ชนิดและขนาดที่กําหนดไว้ในตารางวรรคหนึ่ง สําหรับดับเพลิงที่เกิดจากประเภทของวัสดุที่มีในแต่ละชั้นไว้ 1 เครื่อง ต่อพื้นที่อาคารไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร ทุกระยะไม่เกิน 45 เมตร แต่ไม่น้อยกว่าชั้นละ 1 เครื่อง
การติดตั้งเครื่องดับเพลิงตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ต้องติดตั้งให้ส่วนบนสุดของตัวเครื่องสูงจาก ระดับพื้นอาคารไม่เกิน 1.50 เมตร ในที่มองเห็นสามารถอ่านคําแนะนําการใช้ได้และสามารถนําไปใช้งานได้ โดยสะดวก และต้องอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตลอดเวลา
ข้อ 4 ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว และบ้านแฝด ที่มีความสูงไม่เกิน 2 ชั้น ต้องมีระบบสัญญาณเตือน เพลิงไหม้ติดตั้งอยู่ในอาคารอย่างน้อย 1 เครื่อง ทุกคูหา
ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว และบ้านแฝด ที่มีความสูงเกิน 2 ชั้น ต้องมีระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ ติดตั้งอยู่ภายในอาคารอย่างน้อย 1 เครื่อง ทุกชั้นและทุกคูหา
ข้อ 5 อาคารอื่นนอกจากอาคารตามข้อ 3 วรรคหนึ่ง ที่มีพื้นที่รวมกันทุกชั้นในหลังเดียวกันเกิน 2,000 ตารางเมตร ต้องมีระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ทุกชั้นด้วย
ข้อ 6 ระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ตามข้อ 4 และข้อ 5 อย่างน้อยต้องประกอบด้วย
(1) อุปกรณ์แจ้งเหตุที่มีทั้งระบบแจ้งเหตุอัตโนมัติและระบบแจ้งเหตุที่ใช้มือเพื่อให้อุปกรณ์ส่งสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ทํางาน
(2) อุปกรณ์ส่งสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ที่สามารถส่งเสียงหรือสัญญาณให้คนที่อยู่ในอาคาร ได้ยินหรือทราบอย่างทั่วถึงเพื่อให้หนีไฟ
ข้อ 7 อาคารตามข้อ 2 (2) และ (3) ที่มีความสูงตั้งแต่ 2 ชั้น ขึ้นไป และอาคารตามข้อ 2 (4) ที่มีพื้นที่ รวมกันทุกชั้นในหลังเดียวกันเกิน 2,000 ตารางเมตร ในแต่ละชั้นต้องมีป้ายบอกชั้นและป้ายบอกทางหนีไฟ ด้วยตัวอักษรขนาดที่มีความสูงไม่น้อยกว่า 10 เซนติเมตร หรือสัญลักษณ์ที่อยู่ในตําแหน่งที่มองเห็นได้ ชัดเจนตลอดเวลา และต้องมีแสงสว่างจากระบบไฟฟ้าฉุกเฉินเพียงพอที่จะมองเห็นช่องทางหนีไฟได้ชัดเจน ขณะเพลิงไหม้
กฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543)
สามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ >> mr43-55-upd68.pdf (asa.or.th)
(ไฟล์ประกาศจะรวบรวมทุกการอัพเดทรวมไว้ในเอกสารเดียว อัพเดทล่าสุด ฉบับแก้ไข ฉบับที่ 68 (พ.ศ.2563)
ฉบับนี้จะเกี่ยวข้องเฉพาะในส่วนข้องกับงานป้องกันอคคีภัย ในส่วนบันไดหนีไฟของตัวอาคารเท่านั้น
ข้อ 27 อาคารทีสูงตั้งแต่สี่ชั้นขึ้นไปและสูงไม่เกิน 23 เมตร หรืออาคารที่สูงสามชั้น และมีดาดฟ้าเหนือชั้น ที่สามที่มี
พื้นที่เกิน 16 ตารางเมตร นอกจากมีบันไดของอาคารตามปกติแล้ว ต้องมีบันไดหนีไฟที่ด้วยวัสดุทนไฟอย่างน้อยหนึ่งแห่ง
และต้องมีทางเดินไปยังบันไดหนีไฟนั้นได้โดยไม่มีสิ่งกีดขวาง
ข้อ 28 บันไดหนีไฟต้องมีความลาดชันน้อยกว่า 60 องศา เว้นแต่ตึกแถวและบ้านแถวที่สูงไม่เกินสี่ชั้น ให้มีบันไดหนีไฟที่มีความลาดชันเดิน 60 องศาได้ และต้องมีชานพักบันไดทุกชั้น
ข้อ 29 บันได้หนีไฟภายนอกอาคารต้องมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร และต้องมีผนังส่วนที่บันไดหนีไฟพาดผ่านเป็นผนังทึบก่อสร้างด้วยวัสดุถาวรที่เป็นวัสดุทนไฟ
บันไดหนีไฟตามวรรคหนึ่ง ถ้าทอดไม่ถึงพื้นชั้นล่างของอาคารต้องมีบันไดโลหะ ที่สามารถเลื่อนหรือยืดหย่อนลงมาจนถึงพื้นชั้นล่างได้
ข้อ 30 บันไดหนีไฟภายในอาคารต้องมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร สูงไม่น้อยกว่า 1.90 เมตร และต้องทำเป็นบานเปิดชนิดผลักออกสู่ภายนอกเท่านั้น กับต้องติดอุปกรณ์ชนิดบังคับให้บานประตูปิดได้เอง และต้องสามารถเปิดออกได้โดยสะดวกตลอดเวลา ประตูหรือทางออกสู่บันไดหนีไฟต้องไม่มีธรณีหรือขอบกั้น
ข้อ 32 พื้นหน้าบันไดหนีไฟต้องกว้างไม่น้อยกว่าความกว้างของบันไดและอีกด้านหนึ่งกว้างไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร
ฉบับนี้เป็นกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการใช้อาคารและอาคารเก่า
**ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ 47 (พ.ศ.2540)**
สามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ >> mr63-68a.pdf (asa.or.th)
ฉบับนี้จะสำหรับอาคารเก่าที่เข้าข่ายว่าอาจเป็นอันตราย ไม่ปลอดภัยต่ออัคคีภัย หรือสิ่งแวดล้อมอื่นๆ
เป็นการออกกฎเพื่อควบคุมอาคารเก่าที่ถูกสร้างก่อนข้อบังคับด้านความปลอดภัยต่างๆจะออกมาใช้
โดยรวมแล้วในเนื้อหา เกี่ยวกับระบบป้องกันอัคคีภัยก็ไม่ต่างจากกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 และ ฉบับที่ 39
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
สรุปเนื้อหา
บ้านเดี่ยว
- ไม่มีกำหนด
ตึกแถว ห้องแถว บ้านแถว บ้านแฝด (ไม่เกิน 2 ชั้น)
- ให้มีเครื่องดับเพลิงขนาดไม่น้อยกว่า 3 กก.(หรือไม่เล็กกว่าขนาด 10 ปอนด์) อย่างน้อย 1 เครื่องต่อคูหา
- มีระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ อย่างน้อย 1 เครื่อง ต่อคูหา ประกอบด้วย ระบบแจ้งเตือนอัตโนมัติ(heat/smoke dectector) และระบบแจ้งเตือนด้วยมือ(Manual call point) และอุปกรณ์ส่งสัญญาณแจ้งเตือน (Alarm Bell/ Strobe Light)
ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว บ้านแฝด (เกิน2ชั้น) และอาคารอื่นทั่วไปเกือบทั้งหมด
- ให้มีเครื่องดับเพลิงขนาดไม่น้อยกว่า 4 กก.(หรือไม่เล็กกว่าขนาด 10 ปอนด์) 1 เครื่องต่อ 1,000 ตรม.ทุกระยะไม่เกิน 45 เมตร แต่ไม่น้อยกว่าชั้นละ 1 เครื่อง
- มีระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ อย่างน้อย 1 เครื่อง ทุกชั้น และทุกคูหา ประกอบด้วย ระบบแจ้งเตือนอัตโนมัติ(heat/smoke dectector) และระบบแจ้งเตือนด้วยมือ(Manual call point) และอุปกรณ์ส่งสัญญาณแจ้งเตือน(Alarm Bell/ Strobe Light)
- หากพื้นที่เกิน 2,000 ตรม. ต้องมีป้ายทางหนีไฟทุกชั้น และตัวอักษรไม่เล็กกว่า 10 ซม.
อาคารสูง (เกิน23เมตร) และอาคารใหญ่พิเศษ (พื้นที่เกิน 10,000 ตรม.)
- ให้มีเครื่องดับเพลิงขนาดไม่น้อยกว่า 4 กก.(หรือไม่เล็กกว่าขนาด 10 ปอนด์) 1 เครื่องต่อ 1,000 ตรม.ทุกระยะไม่เกิน 45 เมตร แต่ไม่น้อยกว่าชั้นละ 1 เครื่อง
- ติดตั้งให้เครื่องดับเพลิงสูงไม่เกิน 1.5 เมตร วัดจากส่วนบนสุดของตัวเครื่องจากพื้น
- มีระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ (Fire Alarm)
- มีระบบดับเพลิงอัตโนมัติ Sprinkler System หรือเทียบเท่า
- ต้องมีระบบท่อยืน, ที่เก็บน้ำสำรอง, หัวรับน้ำดับเพลิง, ตู้หัวฉีดน้ำดับเพลิง(Fire Hose Cabinet)ทุกชั้น และติดตั้งห่างกันไม่เกิน 64 เมตร
หมายเหตุ
**กฎหมายเป็นเพียงการระบุข้อกำหนดขั้นต่ำเท่านั้น ในการใช้งานจริงควรประเมินความเสี่ยงด้วยความรอบคอบ เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้และทรัพย์สินสูงที่สุด***
**สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม หรือสถานบริการ จะมีกฎกระทรวงที่ครอบคลุมอยู่อีก ซึ่งโดยรวมข้อกำหนดจะสูงกว่าที่ระบุในนี้ครับ
**บทความนี้ได้เรียบเรียงและสรุปขึ้นเอง หากมีข้อผิดพลาดหรือตกหล่นประการใดขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ**
ถังดับเพลิงที่เหมาะสำหรับติดตั้งในแต่ละพื้นที่อาคาร
อาคารทั่วไป ที่อยู่อาศัย พื้นที่ทั่วไป (ภายนอกและภายในอาคาร)
ถังดับเพลิง SATURN ชนิดผงเคมีแห้ง ขนาด 10 ปอนด์ 2A2B (ความเสี่ยงต่ำ)
ถังดับเพลิง SATURN ชนิดผงเคมีแห้ง ขนาด 10 ปอนด์ 4A10B (ความเสี่ยงปานกลาง)
โรงงานอุตสาหกรรม (ภายนอกและภายในอาคาร)
พื้นที่เก็บวัตถุไวไฟ วัตถุอันตราย สถานบริการน้ำมัน
อาคารสำนักงาน, ออฟฟิศ, ห้องปรับอากาศ, Clean Room, ห้องไฟฟ้า, ห้องเซิฟเวอร์ (เฉพาะภายในอาคาร)
ถังดับเพลิง SATURN ชนิดสารสะอาด Clean Agent ขนาด 10 ปอนด์ (ถังดับเพลิงทดแทน เฮลอน1211)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม LINE ID: @saturnfire
-----------------------------------------------------------------------------------
บทความโดย
บจ. สยามเบสท์ สตีล เวิร์คส์
สงวนลิขสิทธิ์ทั้งบทความและรูปภาพประกอบ โดยผู้เขียน
ห้ามนำส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
Comments