top of page

ถังดับเพลิงระเบิด เกิดขึ้นได้อย่างไร?

อัปเดตเมื่อ 10 ต.ค. 2566

ถังดับเพลิงระเบิด อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม.....

ก่อนอื่นขอแสดงความเสียใจต่อทุกความสูญเสียที่เกิดขึ้น ต่อเหตุการณ์ที่ไม่ควรเกิดขึ้นได้ครับ


ถังดับเพลิงระเบิด

ภาพโดย https://www.sanook.com/news/8902090/gallery/4713602/


กรณีที่ถังดับเพลิงจะระเบิดขึ้นได้นั้น เกิดขึ้นได้จากสาเหตุใดบ้าง


สาเหตุที่ถังดับเพลิงระเบิด สามารถเกิดขึ้นได้จาก 2 ปัจจัย


1. แรงดันที่บรรจุอยู่ในถัง มีมากเกินไป

2. สภาพตัวถังดับเพลิงชำรุด ไม่มีความแข็งแรงเท่าเดิม


พูดถึงในกรณีแรก แรงดันที่บรรจุอยู่ในถังดับเพลิงมีมากเกินไป จนตัวถังไม่สามารถรับแรงดันได้ จึงเกิดการฉีกขาดที่ตัวถังและระเบิดแรงดันออก แล้วเหตุการณ์แบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้หรือไม่ ขอแยกเป็นชนิดของถังดับเพลิง เพื่อความเข้าใจความต่างของถังดับเพลิงแต่ละประเภท


ถังดับเพลิงประเภท เคมีแห้ง, สารสะอาด Clean Agent, สูตรน้ำ Water mist, โฟม Foam เมื่อบรรจุสารดับเพลิงเข้าไปในถังดับเพลิงแล้ว จะต้องบรรจุแรงดันเข้าไปเพื่อให้ถังดับเพลิงมีแรงดันใช้งานได้ ก๊าซที่บรรจุเข้าไปจะใช้เป็นก๊าซไนโตรเจน ซึ่งไนโตรเจนเป็นก๊าซเฉื่อย มีอัตราการขยายตัวหรือหดตัวน้อยมาก เมื่อมีความต่างของอุณหภูมิเช่นอากาศร้อนขึ้นหรือเย็นลง ก็แทบไม่มีผลทำให้แรงดันในถังเปลี่ยนแปลงไป

ต่างจากก๊าซประเภทอื่นเช่น ออกซิเจน หรือคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อเจอกับอุณหภูมิที่สูงขึ้น ก๊าซจะขยายตัว ส่งผลให้แรงดันเพิ่มขึ้นตาม


แต่ถังดับเพลิงประเภท"เคมีแห้ง" ก็เคยเกิดเหตุการณ์ถังดับเพลิงระเบิดขึ้น แล้วเป็นที่สาเหตุอะไร?


ในส่วนนี้สามารถตัดปัจจัยว่าเกิดจากก๊าซที่อัดแรงดันได้เลย เนื่องจากโดยปกติแล้วจะใช้ไนโตรเจนในการอัด แต่จะมีอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ถังดับเพลิงประเภทเคมีแห้งระเบิดได้ ซึ่งก็คือ ตัวเคมีนั่นเอง

เคมีแห้งดับเพลิงนั้น แบ่งหลักๆออกเป็น 2 ประเภท คือเคมี ABC (Monoammonium Phosphate) และ เคมี BC (Sodium Bicarbonate) เคมี 2 ประเภทนี้ มีความต่างทางเคมีคือ เคมีประเภท ABC จะมีความเป็นกรดอ่อนๆ ส่วนเคมี BC จะมีความเป็นด่างอ่อนๆ ซึ่งเคมี 2 ประเภทนี้ จะนำมาผสมกันไม่ได้เด็ดขาดเนื่องจากจะทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีและทำให้เกิดก๊าซขึ้น ส่งผลให้แรงดันจะค่อยๆเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ จนตัวถังไม่สามารถรับแรงดันได้และฉีกขาด


ในส่วนถังดับเพลิงประเภท CO2 จะบรรจุเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 100% เพราะฉะนั้นแล้วแรงดันในถังจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ เกิดจากปัจจัยภายนอกก็คืออุณหภูมิเท่านั้น


การบรรจุสารดับเพลิงโดยผู้ผลิตที่ไม่มีมาตรฐาน หรือผู้ดำเนินการขาดความรู้ความเข้าใจคุณสมบัติของสารดับเพลิง หรือความต้องการลดต้นทุนต่างๆ จะทำให้เกิดปัญหาได้

แล้วกรณีเหตุการณ์ถังดับเพลิงประเภท CO2 คาร์บอนไดออกไซด์ระเบิดนั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร


หากให้วิเคราะห์ คงจะวิเคราะห์ได้ว่าสาเหตุเกิดมาจากทั้ง 2 ปัจจัยเลย ซึ่งก็คือ แรงดันในถังมีเพิ่มมากขึ้น และตัวถังเองเสื่อมสภาพและชำรุดอย่างมาก

โดยมาตรฐานทั่วไปแล้ว ถังดับเพลิงจะต้องสามารถรับแรงดันได้มากกว่าแรงดันสูงสุดได้มากกว่า 2 เท่าตัวเป็นอย่างน้อย ซึ่งต่อให้อุณหภูมิจะร้อนแค่ไหนหรือเกิดอุบัติเหตุทำตัวถังล้ม ตัวถังดับเพลิงต้องมีความแข็งแรงมากพอ และไม่ใกล้เคียงที่ตัวถังจะสามารถฉีกขาดได้เลย

โดยแรงดันปกติที่อยู่ในถังดับเพลิง CO2 จะอยู่ราวๆ 850 psi ที่อุณหภูมิ 21 องศาเซลเซียส แต่เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น จะทำให้แรงดันขึ้นสูงตาม


แรงดันที่บรรจุของถังดับเพลิง CO2 โดยประมาณ

อุณหภูมิ 21°C แรงดันประมาณ 850 psi

อุณหภูมิ 31°C แรงดันประมาณ 1,100 psi

อุณหภูมิ 49°C แรงดันประมาณ 1,800 psi >> อุณหภูมิสูงสุดที่สามารถติดตั้งและใช้งานได้ ห้ามเกินนี้

อุณหภูมิ 68°C แรงดันประมาณ 3,000 psi >> โดยปกติแล้วเซฟตี้วาล์วจะทำงานที่แรงดัน 3,000 psi

**แรงดันของ CO2 มีความผันแปรสูง ค่าที่แสดงเป็นค่าประมาณ**


การระเบิดของถังดับเพลิง CO2 ถือเป็นเรื่องอันตรายมาก เนื่องจากมีแรงดันสูงการระเบิดก็จะทำให้เกิดความเสียหายสูงตามมา (ถังดับเพลิงเคมีแห้งทั่วไป แรงดันบรรจุอยู่ที่ 195 psi น้อยกว่า CO2 ถึง 4 เท่าในสภาพแวดล้อมปกติ)


เหตุการณ์ถังดับเพลิง CO2 ระเบิดที่เกิดขึ้น การตั้งถังดับเพลิงตากแดดไว้เป็นเวลานาน จะทำให้มีอุณหภูมิสะสมเกิดในตัวถังมากขึ้น ส่งผลให้แรงดันที่อยู่ในถังนั้นมากขึ้นตาม ยิ่งร้อน แรงดันยิ่งสูง


ในส่วนตัวถัง อาจมีอายุการใช้งานมายาวนาน ตังถังขึ้นสนิมในเนื้อเหล็ก และการใช้งานอย่างโชกโชน ลากถู กระแทก ล้วนอาจส่งผลให้ถังดับเพลิงเกิดการชำรุด และส่งให้ความแข็งแรงตัวถังลดลง


อีกประการหนึ่ง ถังดับเพลิง CO2 ทั่วไปแล้วควรมีระบบป้องกัน โดยมี"เซฟตี้วาล์ว"อยู่ (อยู่ใต้ด้ามจับ) ซึ่งเมื่อแรงดันเกินกำหนดแรงดันที่เกินนั้นจะถูกระบายออกมาทางเซฟตี้วาล์ว เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวถังเบรรจุแรงดันมากกว่าที่ควรจะเป็นเพื่อความปลอดภัย วาล์วที่ถังดับเพลิงระเบิดนั้นอาจเกิดด้วยว่าเซฟตี้วาล์วชำรุด หรือตัววา์ลวไม่ได้มีเซฟตี้วาล์วเลยก็เป็นได้


**จาการรายงานข่าว ปรากฎว่าถังดับเพลิงCO2 ที่ระเบิดนั้น ไม่มีเซฟตี้วาล์ว**

ถังดับเพลิง co2
วาล์วถังดับเพลิง co2


แล้วถังดับเพลิงปกติที่สภาพสมบูรณ์นั้น มีความแข็งแรงเพียงพอหรือไม่?


ถังดับเพลิงประเภท เคมีแห้ง, สารสะอาด Clean Agent


แรงดันใช้งาน 195 psi

แรงดันสูงสุดที่รับได้ 1,000 psi


----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ถังดับเพลิงประเภท CO2


แรงดันใช้งาน 800-1,200 psi

แรงดันสูงสุดที่รับได้ 4,000 psi

(แต่เซฟตี้วาล์ว จะทำงานก่อนที่ประมาณ 3000 psi)


----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

**หมายเหตุ: ข้อมูลเฉพาะถังดับเพลิง SATURN และ MERCURY**



วิธีป้องกัน

  • ตรวจเช็คเป็นประจำ

ถังดับเพลิงประเภทเคมีแห้ง การตรวจสอบถังดับเพลิงเป็นประจำ การตรวจเช็คเข็มแรงดันก็จะทำให้ทราบได้ว่าถังดับเพลิงเกิดการผิดปกติ และมีแรงดันอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ อายุการใช้งานตัวถัง(ที่สภาพสมบูรณ์)ไม่ควรใช้งานเกิน15ปี

  • ห้ามร้อนเกิน 50 °C

อุณหภูมิสถานที่ติดตั้ง ถังดับเพลิง CO2 ต้องอยู่ในช่วง -20 °C ถึง 50°C เท่านั้น ห้ามติดตั้งในที่โดนแสงแดดโดยตรง เพราะจะทำให้อุณหภูมิและแรงดันในตัวถังสูงขึ้น

  • ห้ามติดตั้งกับรถบรรทุก

ไม่ควรติดกับรถบรรทุกหรือรถขนส่งสินค้า การชนหรือการกระแทกอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อความแข็งแรงของตัวถังและอะไหล่ได้

  • ถังเป็นสนิม ควรเปลี่ยนทันที

ถังดับเพลิงทุกประเภท หากพบว่ามีการชำรุดเป็นรอย หรือมีแผลสนิมขนาดใหญ่ ควรเปลี่ยนทันที

  • ห้ามดัดแปลง

ห้ามดำเนินการดัดแปลง หรือแก้ไขตัวถังดับเพลิง หรือ หัววาล์ว หรือ อะไหล่ในส่วนอื่นๆโดยเด็ดขาด

  • เลือกบริษัทมาตรฐาน

ไม่ควรดำเนินการบรรจุหรือส่งเติมถังดับเพลิง กับหน่วยงานที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งอาจมีการดัดแปลงอะไหล่ถังดับเพลิงได้


ถังดับเพลิงco2 ติดตั้งกับรถบบรทุก


คำแนะนำของเรา

ถังดับเพลิงทุกประเภทไม่ควรมีอายุการใช้งานเกิน 15 ปี และไม่ควรผ่านการบรรจุซ้ำเกิน 10 ครั้ง



ถังดับเพลิงที่ผลิตโดย บริษัท สยามเบสท์ สตีล เวิร์คส์ ไม่เคยเกิดการระเบิดขึ้น

มั่นใจได้เลยว่าสินค้าเรามีความแข็งแรงและมีคุณภาพสูงที่สุด เพราะคุณภาพและความปลอดภัยคือสิ่งที่เราใส่ใจมากที่สุด


-------------------------------


บทความโดย


บจ. สยามเบสท์ สตีล เวิร์คส์


สงวนลิขสิทธิ์ทั้งบทความและรูปภาพประกอบ โดยผู้เขียน


ห้ามนำส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความหรือทั้งหมดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

bottom of page